ข่าวทั่วไป

ตัวอะไรครับเนี่ย! ชาวบ้านแฉ ‘ปลาหมอคางดำ’ ระบาดทางอากาศได้ด้วย

ตัวอะไรครับเนี่ย! ชาวบ้านแฉ 'ปลาหมอคางดำ' ระบาดทางอากาศได้ด้วย

ชาวบ้านแฉ ‘ปลาหมอคางดำ’ นอกจากทางน้ำ ยังระบาดทางอากาศ จากนกที่กินปลาเข้าไป อึ้งบางพื้นที่ตากปลาทิ้ง 2 เดือน ยังฟักเป็นตัวได้

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมยศ จันทร์เกษม อายุ 67 ปี อดีตกำนัน ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ว่า การระบาดอย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำในประเทศไทย ที่กำลังตกเป็นกระแสข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้

นอกจากการแพร่ระบาดจะมาจากคน โดยการแพร่กระจายเข้ามายังในพื้นที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง นั้น มีการไหลมาตามกระแสน้ำในลำคลองที่เชื่อมต่อถึงกัน จากในเขตพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ รวมถึงยังมีชายฝั่งทะเลอยู่ติดกันอีกด้วย

ที่น่าตกใจกว่าคือ ปลาหมอคางดำ ยังสามารถแพร่กระจายเข้ามาทางอากาศได้ด้วย จากนกกินปลา ทั้งนกกระยาง นกกาน้ำ ที่สามารถดำดิ่งลงไปงมจับปลาจากใต้น้ำขึ้นมากินได้ ก่อนจะคาบนำปลาบินขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ซึ่งที่กำลังลอยอยู่บนอากาศ

นกตัวที่กินอิ่มมากจนเต็มท้อง จะมีการสำรอกหรือขย่อนตัวปลาที่ยังไม่ตายออกมา จนปลาหลุดจากปากที่กำลังคาบอยู่ ตกลงไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ หรือบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้าน เช่น บ่อเลี้ยงหอยแครง บ่อเลี้ยงกุ้ง ทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำสามารถกระจายตัวไปได้กว้างไกลมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไข่ปลาหมอคางดำ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง เหมือนที่ จ.สมุทรสงคราม เกษตรกรตากบ่อปลาทิ้งเอาไว้เป็นเวลานานกว่า 2 เดือน ทว่ายังสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ จึงเชื่อว่าปลาหมอคางดำที่ถูกนกกระยาง นกกาน้ำกินเข้าไป แต่ในตัวปลายังมีไข่อยู่ในท้องด้วย เมื่อนกถ่ายมูลออกมาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือชายฝั่งทะเลบริเวณนี้ ไข่ปลาอาจยังไม่ตายและฟักเป็นตัวออกมา ซึ่งถือเป็นช่องทางทำให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายตัวไปได้ไกลเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง

ประมงจังหวัดสมุทรปราการ ยืนยันพบ “ปลาหมอคางดำ” ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการแล้ว 4 อำเภอ ขณะที่สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤต นอกจากนี้ยังมีชาวประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้ บริเวณปากอ่าวไทยนอกเขต 3 ไมล์ทะเล

วันนี้ (18 ก.ค.2567) นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรปราการ นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ปากอ่าวไทย ใน จ.สมุทรปราการ หลังได้รับรายงานว่า มีชาวประมงพื้นบ้าน จับปลาหมอคางดำจำนวนมาก ในเขต 3 ไมล์ทะเล

จากการผ่าท้องปลาหมอคางดำ พบว่า มีเคยจำนวนมากอยู่ในท้องจึงกังวลว่า หากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดปัญหาหนักกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ เพราะจะไปทำลายระบบนิเวศและสัตว์น้ำ ในทะเลอ่าวไทย และอาจแพร่พันธุ์ขยายวงกว้างไปสู่ทะเลประเทศเพื่อนบ้านได้

ทั้งนี้เมื่อวานนี้ ประมงจังหวัดสมุทรปราการได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำในพื้นที่

นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ ยอมรับว่าปัญหาปลาหมอคางดำใน จ.สมุทรปราการ ขยายพันธุ์อยู่ในขั้นวิกฤต มีประชาชนแจ้งเข้ามาว่า นอกจากพบที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ และ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ แล้ว ยังพบอยู่ในพื้นที่ของ อ.เมืองสมุทรปราการ และที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ เพิ่มอีก ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันการแพร่พันธุ์ปลาหมอคางดำ

ส่วนเรื่องราคาที่รับซื้อตอนนี้มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ หลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ภาครัฐช่วยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม คือ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้รอคำสั่งอย่างเป็นทางการและพร้อมดำเนินการในทันที

ตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 10 บาท

ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชาวประมงจาก อ.ไชยา และ อ.ท่าชนะ นำปลาหมอคางดำขายให้กับเจ้าหน้าที่ ที่จุดรับซื้อในพื้นที่ ต.วัง อ.ท่าชนะ ตามโครงการควบคุมการแพร่ระบาด ของปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำให้หมดไปจากพื้นที่

ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าหลังพบการขยายพันธุ์ใน 2 อำเภอ คือ ท่าชนะ และ ไชยา ทำให้ขณะนี้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการควบคุมไม่ให้แพร่พันธุ์ ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งการจับออกจากธรรมชาติ และวางแผนปล่อยปลานักล่า

ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ติดตามสถานการณ์ เพื่อประเมินและหาแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่ อย่างเป็นรูปธรรม

“ปลาหมอคางดำ” กระทบธุรกิจปลา

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปลาหมอคางดำกำลังระบาดไปยังแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ค่อสข้างรุนแรง เช่น จ.นครศรีธรรมราช สงขลา สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกุ้ง ปลา ซึ่งถ้าปลาปลาหมอคางดำหลุดลอดเข้าไป จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งสร้างมูลค่าเสียหายนับพันล้าน ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี พื้นที่ภาคใต้จะมีการแพร่ระบาดหนาแน่น

ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีการพบปลาหมอคางดำพื้นที่ภาคเหนือ หรือ อีสาน แต่ถ้าหากพบจริงคาดว่าจะมาจากสาเหตุที่มีคนนำพาไป เพราะการเลี้ยงที่สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

สำหรับปลาหมอคางดำจะชอบอาศัยอยู่ตามป่าชายเลนซึ่งจะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ จ.สมุทรสาคร

ทั้งนี้เมื่อวานที่ผ่านมา นายณัฐชา ได้ระบุว่า ขณะนี้ได้รับการประสานจากหน่วยงาน สวทช. ได้แจ้งกับคณะกรรมาธิการมาว่า หากมีการแจ้งว่า มีการฝังกลบไปแล้ว เมื่อประมาณ 14 – 15 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถขุดดินบริเวณนั้น มาสืบหาข้อมูลทางพันธุกรรมได้ว่า เป็นปลาสายพันธุ์เดียวกัน DNA เดียวกัน พ่อแม่สายพันธุ์เดียวกัน กับที่หลุดรอดอยู่ในปัจจุบันหลายแสนหลายล้านตัวหรือไม่ ดังนั้นข้อมูลตรงนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่จะหาต้นตอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *