NARIT เฉลย ลูกไฟสีเขียว เหนือท้องฟ้าคืนวันที่ 4 มี.ค.คืออะไร
NARIT เฉลยแล้ว ลูกไฟสีเขียว เหนือท้องฟ้า เมื่อคืนวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา คือ ดาวตกชนิดลูกไฟ หลังมีผู้พบเห็นจำนวนมากในหลายจังหวัด
ล่าสุดวันที่ 5 มี.ค.2567 NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ลูกไฟสีเขียวปรากฏเหนือท้องฟ้าคืน 4 มีนาคม 2567 แถบภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย คาดเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ
ตามที่มีการแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่ายในโซเชียลมีเดีย ปรากฏเป็นลูกไฟสีเขียวขนาดใหญ่วิ่งพาดผ่านท้องฟ้าเป็นแนวยาว คืนวันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลาประมาณสามทุ่มเศษ มีผู้พบเห็นเป็นจำนวนมาก
หลายพื้นที่ในจังหวัดแถบภาคกลาง และภาคตะวันออกของไทย อาทิ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบรี ชลบุรี สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา จากข้อมูลดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าเป็นดาวตกชนิดลูกไฟ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ดาวตก (Meteorite) เกิดจากการที่วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก เสียดสีกับชั้นบรรยากาศ ที่ระดับความสูงประมาณ 80-120 กิโลเมตร
มีลักษณะเป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ ความร้อนและแสงสว่างที่เกิดขึ้นก็มากตามไปด้วย ซึ่งจากคลิปวิดีโอและภาพถ่ายดังกล่าว ดาวตกที่ปรากฏมีขนาดใหญ่ และสว่างมาก ความสว่างใกล้เคียงกับดาวศุกร์ จึงสันนิษฐานว่า เป็นดาวตกชนิด #ลูกไฟ (Fireball)
ทั้งนี้ แสงสีเขียวของดาวตก สามารถบ่งบอกได้ว่ามีส่วนประกอบของธาตุนิกเกิล ซึ่งเป็นธาตุโลหะ ปัจจัยที่ส่งผลต่อสีของดาวตก เกิดจากเศษหินและฝุ่นของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย พุ่งเข้ามาชนกับชั้นบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูงมาก เกิดการเสียดสีและเผาไหม้ ทำให้อะตอมของดาวตกเปล่งแสงออกมาในช่วงคลื่นต่าง ๆ
เราจึงมองเห็นสีของดาวตกปรากฏในลักษณะที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยได้แก่ องค์ประกอบทางเคมี โมเลกุลของอากาศโดยรอบ ในแต่ละวันจะมีวัตถุขนาดเล็กผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก เราสามารถพบเห็นได้เป็นลักษณะคล้ายดาวตก และยังมีอุกกาบาตตกลงมาถึงพื้นโลกประมาณ 44-48.5 ตันต่อวัน
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ห่างไกลผู้คน จึงไม่สามารถพบเห็นได้ ดาวตกนั้นจึงเป็นเรื่องปกติและสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์