ข่าวทั่วไป

ค้นบ้านหรู ทลายโกดัง แม่ค้าออนไลน์ดัง ยึดสินค้าไร้มอก.กว่า10ล้านบาท

Loading

16 ก.พ. 256714:04 น.

ดีเอสไอ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ บุกทลายโกดัง แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ยึดสินค้าไร้ มอก. กว่า 10 ล้านบาท ลุยค้นบ้านหรู เตรียมดำเนินคดีพิเศษ

วันที่ 16 ก.พ.2567 รายงานข่าวแจ้งว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำกำลังบุกโกดังแม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง หลังถูกร้องเรียน ซึ่ง นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้

ได้สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอเมืองยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อเข้าทำการตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ต่อมาทราบชื่อคือ บริษัท มากี้ช็อป 2017 จำกัด

ดีเอสไอ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ บุกทลายโกดัง แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ยึดสินค้าไร้ มอก. กว่า 10 ล้านบาท ลุยค้นบ้านหรู

ดีเอสไอ สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ บุกทลายโกดัง แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง ยึดสินค้าไร้ มอก. กว่า 10 ล้านบาท ลุยค้นบ้านหรู

ภายหลังจากสืบทราบว่า มีการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม และลักลอบจำหน่ายสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยเปิดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ทางเพจเฟซบุ๊กชื่อ MakeeShop และ ติ๊กต็อก ชื่อ Makeeshopofficia

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นในบ้าน พบเป็นบ้านหรู มีสระว่ายน้ำ และบางส่วนกำลังต่อเติม มีรถหรูจอดในโรงรถ 4 คัน และตรวจค้นโกดังที่อยู่หลังบ้านดังกล่าว พบสินค้าหลายประเภทอยู่ตามชั้นวางซึ่งสินค้าไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) ที่ค้นพบอยู่บนชั้นวางด้านหลังโกดัง เช่น เตารีดไอน้ำ หม้อหุงข้าว เตากระทะไฟฟ้า พัดลม พาวเวอร์แบงก์ และจักรยาน เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดไปตรวจสอบ

นายชยพล กล่าวว่า พบสินค้าหลายประเภททั้งสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องสำอาง ซึ่งในส่วนของสินค้าที่บังคับว่าต้องมี มอก.แต่ไม่มี หรือสินค้าบางประเภทบางชิ้นมี มอก. แต่ต้องไปตรวจดูว่าเป็น มอก.แท้หรือปลอม ในส่วนนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดที่จะต้องพิจารณาในส่วนของการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าประเภทเครื่องสำอางที่สาธารณสุขต้องตรวจดูว่าสินค้าดังกล่าวมี อย.หรือไม่ หากระบุเลข อย.ต้องไปตรวจต่อว่าแท้หรือปลอมเนื่องจากว่าการเอาของที่มี อย.เอามาขายต่ำกว่าราคาท้องตลาดมากๆ แสดงให้เห็นแล้วว่าอาจจะเป็นสินค้าปลอมก็ได้

เบื้องต้นพบสินค้าหลายชนิดไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย คาดว่าน่าจะมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่อาจต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าผ่านมาจากช่องทางใดบ้าง ในส่วนของความผิดนั้นส่วนที่ 1 เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและส่วนที่ 2 อาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร

พร้อมกันนี้ต้องมีการตรวจสอบกันต่อและยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สินค้าไหนถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องคืน ไม่ดำเนินคดี ในส่วนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษจะดูมูลค่าความเสียหายดูความเสียหายที่เกิดกับประชาชนว่ามีมูลค่าผลกระทบมากน้อยแค่ไหนจะสมควรรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ จะต้องมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่เจ้าของโกดังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลกับสื่อ

สำหรับผลการตรวจค้นเป้าหมายพบพยานหลักฐาน ดังนี้

1.หมายค้นศาลจังหวัดยะลา ที่ 1/2567 ลงวันที่ 13 ก.พ.2567 ค้นสถานที่ บ้านหลังหนึ่ง ม.7 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นที่พักอาศัยและโกดังเก็บสินค้า พบสินค้าซึ่งไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. จำนวน 70 รายการ รวมจำนวน 1,364 ชิ้น

2.หมายค้นศาลจังหวัดยะลา ที่ 2/2567 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค้นสถานที่บ้านหลังหนึ่ง ม.7 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งมีลักษณะเป็นโกดัง ภายในพบว่ามีเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าส่งจำหน่ายให้กับลูกค้า และบริเวณด้านข้างโกดังพบรถบรรทุกสินค้าซึ่งมีสินค้าอยู่เต็มคันรถเตรียมนำเข้าใส่โกดัง จำนวน 75 รายการ รวมจำนวน 857 ชิ้น

สำหรับของกลางของที่ทำการตรวจยึดได้เป็นยอดขายในแต่ละวัน ซึ่งหากเฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือนจะมียอดขายประมาณ 30,000-40,000 ชิ้นต่อเดือน ประกอบพยานเอกสารการสั่งซื้อและขายที่ตรวจยึดได้ในที่เกิดเหตุซึ่งพบว่าได้ประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี โดยไม่มีอาชีพอื่นใด

พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามพ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2566 มาตรา 48 และ มาตรา 48 ทวิ และความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 มาตรา 243 และ มาตรา 244

ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ตามบัญชีท้าย ข้อ 8 และข้อ 13 ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะได้เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป

การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้อสั่งการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ ในการมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และสุขภาพอนามัยของประชาชนซึ่งเกิดอันตรายจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ที่มา :มติชน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *